หลังจากพ่อกอลมเบต์ได้พักรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศสนานถึง 2 ปี ท่านก็ได้ลงเรือกลับมาถึงประเทศสยามเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2445 (ค.ศ.1902) บรรดานักเรียนเก่าและนักเรียนปัจจุบันได้ร่วมกันต้อนรับและมอบถุงแพรบรรจุเงินเหรียญบาทหลายพัน เป็นเงินที่พวกนักเรียนเรี่ยไรกันเองเพื่อมอบให้พ่อกอลมเบต์ ทำให้ท่านยินดีและตื้นตันใจมาก เพราะเห็นว่าเมล็ดแห่งความดีที่ได้หว่านลงไปในดวงจิตแห่งศิษย์ตลอด 20-30 ปี นั้น ได้ออกผลงอกงามทันตาเห็น พ่อกอลมเบต์จึงถือโอกาสนี้แนะนำให้รวมกันตั้ง “ สโมสร ” ขึ้น ไว้สำหรับอัสสัมชนิกไม่ว่าตระกูลไหน สมัยไหน ได้ใช้เป็นที่ประชุมคุยกัน เล่นกัน ปรึกษาหารือพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือทุกข์ร้อนกันต่อไป และพ่อกอลมเบต์ก็ได้ใช้เงินที่ได้รับจากนักเรียนกลับคืนให้โดยการจัดตั้ง “ สโมสร ” ขึ้น นักเรียนเห็นด้วยกับคำแนะนำของพ่อกอลมเบต์
ครั้นถึงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2447 (ค.ศ.1904) ท่านจึงได้เปิด “ สโมสรนักเรียนเก่าอัสสัมชัญ ” ขึ้นที่ตึก 2 ชั้น ริมถนนบูรพา (ตรอกโอเรียนเต็ล) ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นที่พบปะกันแล้ว ก็ยังเป็นเสมือนบ้านชั่วคราวสำหรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษา ออกทำงานแต่ไม่มีที่พักอาศัยอีกด้วย เพราะเสียค่ากินอยู่หลับนอนถูกเท่ากับพวกนักเรียน ซึ่งนับเป็นการช่วยเหลือในขณะเริ่มอาชีพ แต่กิจการมิได้กว้างขวางเพราะผู้ดำเนินงานเป็นนักบวช ไม่เหมาะที่จะเกี่ยวกับโลกียกิจจนเกินควร สถานที่ก็คับแคบ นักฟุตบอลต้องเตรียมตัวแข่งขันที่ริมถนน สมาชิกที่อยากคุย อยากดื่มมักเป็นเหตุขัดขวางผู้อยากพักผ่อนหลับนอน ฯลฯ อัสสัมชนิกรุ่นพี่ๆ เห็นใจทั้ง 2 ฝ่าย จึงได้ชักชวนสมาชิกขยายกิจการให้กว้างขวาง ภาคภูมิ คลุมถึงสาขาของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล สามเสน และโรงเรียนเซนต์ปอล แปดริ้ว ข่าวการปลีกตัวของ “ สโมสรนักเรียนเก่าอัสสัมชัญ ” ได้ก่อความวิตกกังวลให้แก่ท่านเจษฎาธิการไมเกิล เพราะเกรงว่าศิษย์เก่าจะไม่สามัคคีและรวมตัวกันไม่ได้ แต่บรรดาอัสสัมชนิกรุ่นพี่ไม่หวั่นเกรง กลับยึดน้ำคำปิยาจารย์เป็น “โอวาทานุสรณ์” เพื่อให้เกิดอิทธิพลังและแสดงสมรรถภาพของ “ ศิษย์เก่ามีครู ” ให้ประจักษ์จงได้
“ ณ ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา ” อัสสัมชนิกรุ่นพี่ๆ ได้เปิดการประชุมออกเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดแรก ซึ่งได้แก่
1. มหาอำมาตย์ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ผ่อง โชติกะพุกกณะ) หรือ พระยาบริบูรณ์โกษากร ผู้อุปถัมภ์สำคัญในครั้งเก่านั่นเอง
2. นาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช)
3. นาวาเอก พระเรี่ยมวิรัชพากษ์ (เรี่ยม ทรรทานนท์)
4. อำมาตย์ตรี หลวงวัยวุฒิปรีชา (ม.ล.วัย กุญชร)
5. อำมาตย์ตรี หลวงสรกิจเกษตรการ (บี.ซี.เคอรา)
6. นายเอ๊กโป้ย (เอก) วีสกุล
7. นายเซ่งหลี ลืออำรุง
8. นายติ๊ดเส็ง (แสง) กรองทอง
9. นายเจือ เพ็ญภาคกุล
10. นายแฟรงค์ฮิกซ์
11. นายอี.เอ. นานา
12. นายเอี่ยม สีบุญเรือง
กรรมการชุดดังกล่าวได้ประชุมตกลงใจพร้อมกันย้าย “ สโมสรนักเรียนเก่าอัสสัมชัญ ” จากที่เดิมมาตั้งที่ใหม่กว่า เป็นตึก 2 ชั้น สีไข่ไก่ ที่ถนนสีลม ตรอกเวท มีพิธียกป้ายตัวทองอร่ามว่า “ สมาคมอัสสัมชัญ ” เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2474 (ค.ศ.1931) นับเป็นสมาคมที่มีความโอ่อ่า สง่างามสมภาคภูมิของมวลสมาชิกซึ่งมาจากโรงเรียนอัสสัมชัญที่เก่าแก่และเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย “ สมาคมอัสสัมชัญ ” แห่งใหม่นี้กว้างขวาง โอ่โถง อากาศดี มีสิ่งที่เดิมไม่เคยมีหลายสิ่งหลายอย่าง ชั้นล่างมีห้องรับแขก เก้าอี้นวมนุ่มนั่งสบาย พร้อมด้วยเครื่องเล่นจานเสียงและวิทยุ ซึ่งอาจอวดได้ว่า มีอยู่ในประเทศไทยไม่เกิน 3 เครื่อง มีห้องสมุดอันเพียบพร้อมด้วยนิตรสารและนานาวารสารทั้งไทยและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 15 ฉบับ รวมหนังสือพิมพ์ชั้นนำอีก 6-7 ฉบับ ภัณฑาคารแห่งเกียรติก็เต็มไปด้วยโล่ ถ้วยรางวัลกีฬา และสารพัดที่ระลึกลักษณะต่างๆ ตั้งแต่ลูกระเบิดจนกระทั่งเครื่องบิน ห้องโถงชั้นบนกว้างใหญ่เพียงพอใช้จัดงานชื่นชุมชุมต่างๆ และเต้นรำ และนอกจากจำนวนสมาชิกหนาแน่นแล้ว สมาคมฯ ยังมีเงินสดฝากธนาคารเป็นทุนสำรองอีก 20,000 บาท(สองหมื่นบาท) ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินมากน่าตื่นเต้นในสมัยโน้น
ภายใต้การดำเนินงานของอัสสัมชนิกรุ่นพี่ๆ “ สมาคมอัสสัมชัญ ” ได้จำเริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าเก่า จนกระทั่งเวลาผ่านไปสมาคมฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆและขาดการทำนุบำรุง ทำให้ต้องระงับกิจกรรมต่างๆของสมาคม ส่วนทรัพย์สินของสมาคมฯ ได้ฝากไว้กับโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก โดยเก็บไว้บนยอดหอนาฬิกาของตึกกอลมเบต์ ในระหว่างสงครามบูรพา โรงเรียนอัสสัมชัญถูกระเบิดที่หอนาฬิกาเมื่อคืนวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2487 (ค.ศ.1944)ทำให้สิ่งของต่างๆของสมาคมฯ ต้องพินาศเสียหายไปเป็นส่วนใหญ่ เช่น เอกสารและบัญชีเมื่อสงครามเลิกแล้ว คุณกมล สุโกศล ได้มาขอเปิดสมาคมใหม่ เพื่อให้กิจการบิลเลียดได้เล่นต่อไป ทั้งนี้เพราะรัฐบาลในขณะนั้นไม่ยอมให้เปิดโต๊ะบิลเลียด ยกเว้นสมาคมหรือสโมสรต่างๆเท่านั้น เมื่อตั้งแล้วปรากฎว่าสมาชิกที่เล่นไม่ใช่สมาชิกที่แท้จริงแต่เป็นนักบิลเลียดอาชีพ
นายเลืองบุญ ศราภัยวิณิช ซึ่งเป็นบุตรชายของท่านเจ้าคุณศราภัย เห็นดังนั้น จึงยกป้ายสมาคมกลับมาไว้ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ต่อมา พล.ต.ต.ลม้าย อุทยานานนท์ กับ นายสนอง รัตนวิจัย (โรเบิต โซรับยี) จึงร่วมมือกันเช่าที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ตำบลหัวช้าง อำเภอพญาไท จัดตั้งเป็นสมาคมต่อไป โดยมีนายแพทย์ไกรสีห์ ทองเปล่งศรี เป็นเลขานุการ สถานที่ใหม่นี้ดีมาก มีสนามหญ้าใหญ่ ทำสนามเทนนิส ตัวอาคารก็ใหญ่พอสมควรตกแต่งเพิ่มเติมข้างหลังให้เป็นที่ตั้งโต๊ะบิลเลียด 2 โต๊ะ เมื่อเริ่มเปิดใหม่ๆ ก็ดูคึกคักดี แต่ต่อมาสมาคมฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงกลับไปเหมือนเดิมอีก
ต่อมานายเสนะ จุลวัจนะ เจ้าของแว่นตาภิรมย์เภสัช ซึ่งเป็นกรรมการสมาคมฯ ด้วยคนหนึ่ง เสนอเซ้งสถานที่ของสมาคมฯ เป็นจำนวนเงินหนึ่งล้านบาทเพื่อจัดตั้งเป็นคลีนิคและให้เอาเงินจำนวนนี้ไปติดต่อขอซื้อที่ของคุณเจิม ภูมิจิตร ที่ถนนพระราม 4 อำเภอพระโขนง โดยได้รับความช่วยเหลืออนุเคราะห์จากบรรดาศิษย์เก่าหลายท่าน อาทิ คุณบุญวงศ์ อมาตยกุล คุณอุเทนเตชะไพบูลย์ และคุณประธาน ดวงรัตน์ ฯลฯ ให้สมาคมฯ กู้ยืมเงินมาสร้างอาคารขึ้น โดยทางสมาคมฯ ได้จัดงาน เอ.ซี.บอลล์ ขึ้นทุกๆปี มีผลกำไร เป็นที่น่าพอใจ นับว่าคณะกรรมการชุดหลังๆนี้ได้ทำคุณประโยชน์และสร้างสมบัติไว้กับอัสสัมชนิกอย่างยิ่ง
42 ปีผ่านไป กับหลายยุค หลายสมัยที่เปลี่ยนแปลง พุทธศักราช 2541 สมาคมอัสสัมชัญ ได้ปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคมฯอย่างแท้จริง จากความห่วงใย และการดูแลอย่างใกล้ชิดของนายกสมาคมอัสสัมชัญ คนปัจจุบัน ดร.วัลลภ เจียรวนนท์ ทำให้สมาคมฯได้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง โดยการปรับปรุงตั้งแต่ป้ายสมาคมฯ อาคาร และห้องต่างๆ ทั้งหมด ห้องอาหารติดแอร์ พร้อมด้วยวิทยุ โทรทัศน์ซึ่งติดเคเบิ้ลทีวี ไว้ให้สมาชิกได้มาพักผ่อน ทานข้าว หรือติดตามข่าวสาร ห้องประชุมมาตรฐานสำหรับอัสสัมชนิกรุ่นต่างๆที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ห้องจัดเลี้ยงที่สามารถรับรองแขกได้ถึง 400 ท่าน ห้องสมุดที่รวบรวมประวัติ และผลงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับอัสสัมชัญ รวมถึงสนับสนุนกีฬาของชมรมต่างๆ ทั้งในร่ม และกลางแจ้ง เช่น ชมรมสนุกเกอร์ ชมรมหมากกระดาน ทีมฟุตบอล “A.C. Classic ” กลุ่มอัสสัมชนิกผู้มีใจรักการเล่นฟุตบอล อีกทั้งยังจัดให้ผู้สนใจในด้านคอมพิวเตอร์มารวมกลุ่มกันช่วยดูแลเว็บไซต์ของสมาคมฯ www.acassoc.com และที่สำคัญที่สุดก็คือการชักชวนอัสสัมชนิกในรุ่นต่างๆ เข้ามาร่วมฟังการประชุม หรือมีส่วนร่วมในการบริหารสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง ณ จุดนี้เองจึงถือเป็นการเริ่มต้นศตวรรษใหม่ ของสมาคมอัสสัมชัญ อย่างแท้จริง โดยการนำของ ดร.วัลลภ เจียรวนนท์