ติดต่อเรา 02-390-1062-3

จตุรมิตรสามัคคี รู้แล้วเหยียบไว้เลย

สมาคมอัสสัมชัญ > Online Magazine > จตุรมิตรสามัคคี รู้แล้วเหยียบไว้เลย

เรื่องโดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

คอลัมนิสต์ EYE ON SPORTS หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

อัสสัมชนิก 23099 FR’75 แผนกฝรั่งเศส เข้าเรียน ป.มูล พ.ศ.2508

                   “จตุรมิตรสามัคคี” เป็นการแข่งขันฟุตบอลประเพณีระดับมัธยมศึกษาระหว่างโรงเรียนชายล้วน 4 โรงเรียนคือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ มาตั้งแต่ พ.ศ.2507  โดยมีการบันทึกว่า การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคีเกิดจากความคิดริเริ่มของ อาจารย์ โปร่ง ส่งแสงเติม อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กับอาจารย์ อารีย์ เสมประสาท อาจารย์ใหญ่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งทั้ง 2 ท่านได้มาขอความร่วมมือจากอาจารย์ บุญอวบ บูรณะบุตร อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และอาจารย์บรรณา ชโนดม อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอัสสัมชัญ ให้ร่วมกันจัดการแข่งขันฟุตบอลเพื่อเชื่อมความสามัคคีของครูอาจารย์และนักเรียนของทั้ง 4 สถาบัน  เกี่ยวกับมาสเตอร์ บรรณา ของเรานั้น ผมยังจดจำใบหน้าของท่านได้เป็นอย่างดี ฝรั่งแท้ๆเลย รุ่นเก่าๆบอกผมว่า ท่านเป็นลูกครึ่งเยอรมานี มีชื่อเดิมว่า แบรนาร์ด ชไนเดอร์ (Bernard Schneider) ตั้งชื่อภาษาไทยให้มีเค้าโครงชื่อฝรั่งเป็น บรรณา ชโนดม ครับ

 

                  ผมขอให้ข้อมูลสวนกันไปเลย เรื่องความคิดริเริ่มการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีนั้น บราเดอร์หลุยส์ ชาแนล (Brother Louis Chanel หรือ ภราดาวิริยะ ฉันทวโรดม อัสสัมชนิกเลขประจำตัว 13139 อดีตอธิการ และผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญ 2 สมัย) ได้เล่าให้ผมฟังกับหูเลยนะครับว่า ความจริงนั้น กระทรวงศึกษาธิการต่างหากที่เป็นผู้ริเริ่มให้มีการแข่งขันดังกล่าว เนื่องจากในยุคนั้น การแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมระดับนี้มักจะจบลงด้วยการทะเลาะวิวาท ตะลุมบอน ยกพวกเข้าตีกันอยู่ตลอด กลายเป็นองค์ประกอบท้ายรายการที่ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดการแข่งขัน  ทางกระทรวงฯ จึงพยายามหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และดำริที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนให้เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่มีตีกัน  โดยเลือกเอาโรงเรียนที่มีความเก่าแก่ ก่อตั้งมานานและสั่งสมชื่อเสียงเป็นเกียรติประวัติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งใจเอาโรงเรียนวัดไทยสัก 2 โรงเรียน โรงเรียนวัดฝรั่งสัก 2 โรงเรียน แล้วจัดการแข่งขันให้เป็นประเพณีทุกๆปีเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับโรงเรียนอื่นๆทั่วประเทศ

                  ในที่สุดก็ได้มา 4 โรงเรียนคือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (Bangkok Christian College – BCC) ก่อตั้งขึ้น พ.ศ. 2395 เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย  โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (Suankularb Wittayalai School – SK) ก่อตั้งขึ้น พ.ศ. 2425  โรงเรียนอัสสัมชัญ (Assumption College – AC) ก่อตั้งขึ้น พ.ศ. 2428  และโรงเรียนเทพศิรินทร์ (Debsirin School – DS) ก่อตั้งขึ้น พ.ศ. 2428 เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 2507 โดยโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ  ซึ่งในระยะแรกนั้น กำหนดจัดการแข่งขันเป็นประเพณีทุกๆปี โดยให้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ  แต่บางครั้ง การจัดการแข่งขันต้องขาดช่วงตอนลงบ้าง เนื่องจาก สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ไม่ว่าง เช่นในปี พ.ศ. 2509 และ 2510  เรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญทีเดียว ผมได้ยินรุ่นเก่าๆอธิบายให้ฟังว่า ลักษณะอัฒจันทร์ของสนามกีฬาแห่งนี้เหมาะเหม็งมากเหลือเกินสำหรับการจัดการแปรอักษร เมื่อเปรียบกับอัฒจันทร์ของสนามกีฬาอื่นๆที่มีลักษณะแตกต่างกันและหากจะปรับให้เข้ากับการจัดผู้คนนั่งเรียงกันเพื่อแปรอักษรนั้นจะเกิดความยุ่งยากมากเหลือเกิน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคีจึงนิยมไปจัดขึ้น ณ สนามศุภชลาศัย

                  ในบางช่วงบางปี สภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย การเมืองก็ร้อนแรง อย่างในช่วงปี พ.ศ. 2518-20 เหตุการณ์หรือบรรยากาศทางการเมืองค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยงถ้าจะมีการนำผู้คนมารวมตัวกันเยอะๆ จตุรมิตรสามัคคีก็มีอันต้องสะดุดว่างเว้นได้เหมือนกัน  และสืบเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจนี้ หลังจากการจัดการแข่งขันในปี พ.ศ. 2528 คณะกรรมการจัดการแข่งขันจึงคิดกันว่า ถ้ามีการแข่งขันทุกปีอาจทำให้สิ้นเปลือง ครั้นต้องเว้นว่างไปก็เกรงว่าเดี๋ยวจะขาดช่วงแล้วอาจเลิกประเพณีไปโดยปริยาย จึงตกลงกันว่าให้มีการแข่งขันขึ้นทุกๆ 2 ปีนับแต่นั้นมา

 

                  การแปรอักษร ถือเป็นเสน่ห์ที่มีมาควบคู่กับการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ผู้คนไม่น้อยที่ต้องการเข้ามาชมฟุตบอลจตุรมิตรด้วยตนเองในสนามกีฬาก็ด้วยหวังอยากมาชมการแปรอักษรอันตระการตานอกจากเกมการแข่งขัน  ฝรั่งเรียกการแปรอักษรว่า Card stunt เกิดขึ้นในโลกของเราตั้งแต่เมื่อใดและใครเป็นคนคิด ไม่ยักเห็นมีหลักฐานปรากฏ  แต่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งก็คือ ผู้ที่ริเริ่มการแปรอักษรขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 และได้รับการยกย่องให้เป็น ” บิดาแห่งการแปรอักษร ” ก็คือ มาสเตอร์ เฉิด สุดารา แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญนั่นเอง  โดยได้ความคิดมาจากศิลปะโมเสค  การแปรอักษรครั้งแรกนั้น มาสเตอร์ เฉิด ได้ให้นักเรียนแต่งชุดและหมวกสีขาวมานั่งเรียงเป็นพื้นแล้วเว้นช่องว่างเอาไว้เป็นคำว่า “ อ ส ช “ แล้วให้ยุวชนทหารใส่ชุดสีกากีแกมเชียวมานั่งให้เต็มทำให้เกิดเป็นคำว่า “ อ ส ช “ อย่างชัดเจน  การแปรอักษรถูกพัฒนารูปแบบให้เกิดความสวยงามตื่นตาน่าชมเรื่อยมา ทำให้ต่อมาหลายสถาบันก็ได้ถือเป็นแบบอย่างนำไปจัดการแปรอักษรบ้าง เช่น ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500

                  ผมยังจำบรรยากาศตอนที่ขึ้นสแตนด์เชียร์เพื่อซ้อมร้องเพลงเชียร์และการแปรอักษรของโรงเรียนตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีก่อนได้ดี ตั้งแต่ยุคนั้นก็มีการแปรอักษรหลากหลายรูปแบบแล้ว ทั้งภาพสีที่สวยงามมาก อันนี้เขาคัดมาจากผลงานของพวกเราเองที่วาดลงบนสมุดวาดเขียนในวิชาศิลปะ โดยสมุดวาดเขียนจะถูกผลิตขึ้นพิเศษให้มีช่องตารางตามการนั่งเรียงแถวในการแปรอักษร แล้วนำไปกำหนดเป็นโค้ดสีเพื่อให้เปิดสีตามนั้นจากสมุดสี 4 เล่มซึ่งเย็บติดบนแผ่นไม้อัดแปรอักษรของแต่ละคนที่เรียกว่า เพลท (Plate)  เพลทของยุคนั้นอาจเรียกตามความละเอียดได้เป็น เพลท 1:4  หลังสมัยของผมจึงมีความละเอียดยิ่งขึ้นเป็น เพลท 1:9 และ 1:16  ในปัจจุบัน นอกจากจะปรับมาใช้โครงลวดแทนเพื่อให้มีน้ำหนักเบาแล้ว ความละเอียดยังพัฒนาไปได้ถึง 1:576 ทีเดียว  ในยุคของผมมีการแปรอักษรภาพ 3 มิติด้วย จำได้ว่าเขาใช้ลังไข่กระดาษมาเป็นอุปกรณ์พื้นฐานแปะด้วยกระดาษฟอยล์สี ซึ่งมันคงสวยงามมากทีเดียวสำหรับผู้ที่ได้มองเห็นการแปรอักษรดังกล่าว แต่สำหรับผมซึ่งเป็นผู้แปรอักษรนั่งอยู่บนสแตนด์จึงไม่ได้เห็นผลงานนั้นเลย  นอกจากนั้น ยังมีการแปรอักษรเป็นภาพเคลื่อนไหว ใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ร่ม พู่ ไฟฉาย มีโค้ดนับ โค้ดปรบมือ หลายหลายเทคนิคที่ถูกคิดค้นขึ้นตามยุคสมัยที่พัฒนาเปลี่ยนไป  การแปรอักษรของเหล่านักเรียนจากโรงเรียนในกลุ่มจตุรมิตรนี้เป็นที่เลื่องลือในระดับชาติและสร้างชื่อไปทั่วโลกทีเดียว เหล่านักเรียนจากโรงเรียนกลุ่มจตุรมิตรร่วม 8,000 คนได้แสดงการแปรอักษรในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาคนพิการภาคพื้นตะวันออกไกลและแปซิฟิกตอนใต้ (Far East and South Pacific Games for the Disabled – FESPIC Games) ครั้งที่ 7 ในปี พ.ศ. 2542 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ และย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นักเรียนอัสสัมชัญกว่า 2,000 คนก็ได้แสดงการแปรอักษรในโอกาสที่ท่านเสด็จทรงเป็นประธานในพิธีบูชามิสซาสำหรับคริสตศาสนิกชนชาวไทยที่สนามศุภชลาศัยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2527  (และนี่ก็กำลังเตรียมคิดกันอยู่สำหรับการแปรอักษรในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายนนี้)

                  ในช่วงที่ผมเรียนอยู่นั้น ฉายาของทีมจตุรมิตรเกิดในยุคนั้นแล้ว โดย สวนกุหลาบ มีฉายา ชมพู-ฟ้า  เทพศิรินทร์ คือ ลูกแม่รำเพย  กรุงเทพคริสเตียน คือ ชงโคม่วงทอง และอัสสัมชัญของเรา คือ อินทรีแดง ฟังฉายาแล้ว อินทรีแดง น่าจะสร้างความฮึกเหิมมากที่สุด  อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลจตุรมิตร 13 ครั้งแรก (พ.ศ.2507-2528) อัสสัมชัญ ไม่เคยได้กล้ำกรายถึงตำแหน่งแชมป์เลยแม้แต่หนเดียว  ผมจำได้ว่า เราต้องเข้าชิงตำแหน่งที่ 3 เพื่อหนีบ๊วยแทบจะทุกปี แทบจะเรียกได้ว่า จองที่เอาไว้แล้ว เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าปีนั้นจะได้พบกับ เทพศิรินทร์ หรือ กรุงเทพคริสเตียน เท่านั้นเอง  มนู สิทธิประศาสน์ เพื่อนรุ่นเดียวกันกับผมที่เกาะติดกิจกรรมของโรงเรียนเสมอมาได้เล่าให้ฟังว่า บราเดอร์หลุยส์ ชาแนล อีกนั่นแหละที่เป็นผู้เริ่มศักราชใหม่ของ จตุรมิตร สำหรับ อัสสัมชัญ  ท่านบอกว่า โรงเรียนอื่นๆเขามีการมอบทุนการศึกษาให้แก่นักกีฬามาตลอด ใครมีฝีเท้าดีก็จะได้รับทุนให้เข้ารับการศึกษาและเล่นกีฬาให้แก่สถาบันด้วย  นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นับแต่นั้นมา อัสสัมชัญ มิได้พึ่งพิงนักกีฬาที่มาจากนักเรียนปกติที่มีอยู่ตามสภาพ ซึ่งถูกเรียกว่า ช้างบ้าน เท่านั้น แต่เริ่มมอบทุนการศึกษา ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายให้แก่นักกีฬาที่มีฝีเท้าดีได้เข้ามาเรียนหนังสือและเล่นกีฬาให้สถาบัน เรียกว่า ช้างเผือก โดยนักกีฬาช้างเผือกรุ่นแรกที่เราคุ้นชื่อก็คือ ประเสริฐ ช้างมูล นั่นเอง

                  นับตั้งแต่ จตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 14 ใน พ.ศ.2530 เป็นต้นมา โครงการช้างเผือกก็ได้ส่งผลออกมาให้ประจักษ์แก่สายตา ทัพนักเตะ อินทรีแดง มีความแข็งแกร่งทัดเทียมกับอีก 3 โรงเรียน  และสามารถคว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ครั้งนั้น อัสสัมชัญ คว้าแชมป์ร่วมกับ สวนกุหลาบ และสามารถคว้าแชมป์เดี่ยวยืนแป้นทีมเดียวได้สำเร็จในครั้งถัดมา  รวมสรุป จตุรมิตรสามัคคี ยุคใหม่ที่เริ่มจาก พ.ศ.2530 มาจนถึงปัจจุบัน 15 หนนั้น อัสสัมชัญ คว้าแชมป์ทั้งแชมป์เดี่ยวและแชมป์ร่วม รวม 8 หน  สร้างนักกีฬารับใช้สโมสรฟุตบอลอาชีพและทีมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ประเสริฐ ช้างมูล  นิเวส ศิริวงศ์  ทินกร กมล  สิงห์ โตทวี  ธนัญชัย บริบาล  กิตติศักดิ์ ระวังป่า  อัมรินทร์ เยาดำ  รณชัย รังสิโย  โชคชัย ชูไชย  อภิภู สุนทรพนาเวศ และอีกมากมายครับ  ติดตามชมและเชียร์ นักเตะ “อินทรีแดง” ในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 29 ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ในวันที่ 9, 11, 13 และ 16 พฤศจิกายนนี้ครับ

หมายเหตุ: สำหรับศิษย์เก่าของทั้ง 4 สถาบันที่สนใจบัตรเข้าชมการแข่งขัน สามารถติดต่อขอซื้อบัตรได้ที่สถาบันการศึกษาของท่าน บัตรแข็งราคา 300 บาท สามารถใช้เข้าชมได้ทั้ง 4 วัน หรือซื้อบัตรเข้าชมแบบ 1 วันได้ที่หน้าสนามในราคา 100 บาท