ติดต่อเรา 02-390-1062-3

โบราณวัตถุและของสะสมชิ้นเยี่ยมในพิพิธภัณฑ์โรงเรียนอัสสัมชัญ

สมาคมอัสสัมชัญ > Online Magazine > โบราณวัตถุและของสะสมชิ้นเยี่ยมในพิพิธภัณฑ์โรงเรียนอัสสัมชัญ

รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี (อัสสัมชนิก 109)

อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ดั่งที่ทราบกันดีว่าโรงเรียนอัสสัมชัญเป็นโรงเรียนเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนี่งในประเทศไทย จวบจนถึงปัจจุบันมีอายุกว่า 130 ปีแล้ว เป็นโรงเรียนที่สร้างผู้มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ ภารดา ครูหรือศิกษย์เก่า นอกจากนี้ยังเป็นโรงเรียนที่มีส่วนสำคัญในหลายเหตุการณ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่แน่นอนที่โรงเรียนที่เก่าแก่ย่อมมีวัตถุโบราณหรือของสะสม” (collection) มากมาย ของบางชิ้นมีคุณค่าในแง่ประวัติศาสตร์ของโรงเรียน แต่บางชิ้นก็แสดงให้เห็นพัฒนาการของงานศาสนา การศึกษา การกีฬาและการดนตรี ฯลฯ ภายใต้กระแสนิยมจากตะวันตกที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่โรงเรียนอัสสัมชัญมักมีการทุบรื้อตึก รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ทำให้วัตถุโบราณและของสะสมอันมีคุณต่ากระจัดกระจายและเสี่ยงต่อการสูญหายอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ พี่ปณต อุดม อัสสัมชนิกรุ่น 100 ผู้ผลิตหนังฟอร์มใหญ่เรื่อง .ฮีแลร์ จึงได้คิดจะรวบรวมอัสสัมชนิกผู้เรียนจบทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีอีก 3 ท่าน คือ รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์คณะโบราณคดี (อัสสัมชนิก 109) นายทวารัตน์ หงษ์นคร (อัสสัมชนิกรุ่น 114)  บัณฑิตสาขาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ นายวัฒภูมิ ทวีกุล บัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบูรพา (อัสสัมชนิกรุ่น 126) มาช่วยกันจัดทำพิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญขึ้นมา โดยยังได้รับการช่วยเหลือทางด้านข้อมูลจากทั้งอัสสัมชนิกอีกหลายท่าน นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบันของคณะโบราณคดี เช่นนายณรัณฐ์ อัครนิธิพิรกุล และนายวรรณพงษ์ ปาละกะวงศ์ อยุธยา เข้ามาร่วมค้นคว้าข้อมูลอีกด้วย

ด้วยเหตนี้จึงมีการรวบรวม ทำทะเบียบและจัดแสดงโบราณวัตถุของโรงเรียน ที่พิพิธภัณฑ์โรงเรียนอัสสัมชัญ ชั้น 11รวมถึงมีการเผยแพร่ความรู้ทางเวปไซด์ www.assumptionmuseum.com รวมถึงเพจในเฟซบุคเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลของประวัติศาสตร์โรงเรียนอัสสัมชัญผ่านทางเรื่องราวและวัตถุ (ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุง)

ต่อไปนี้ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างโบราณวัตถุและของสะสมที่น่าสนใจในโรงเรียนขึ้นมานำเสนอสัก 4 ชิ้น

ชิ้นที่ 1: หีบฤกษ์สำหรับตึกเก่า

ในช่วงปี ..2430 ด้วยโรงเรียนอาซมซานกอเล็ศมีปริมาณนักเรียนเพิ่มมากขึ้น อาคารเรียนไม้หลังเดิมไม่เพียงพอสำหรับให้การศึกษา  คุณพ่อกอลมเบต์จึงมีดำริที่จะสร้างอาคารเรียนหลังใหม่เพื่อทดแทนอาคารไม้หลังแรก โดยการจัดสร้างอาคารหลังดังกล่าวในเวลานั้นได้รับเงินบริจาค ได้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5), สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ชาวสยามและชาวต่างประเทศร่วมกันบริจาคเงินเพื่อจัดสร้างอาคารเรียนด้วย คุณพ่อกอลมเบต์เลือกให้วันที่ 15 สิงหาคม ปี ..2430 เป็นวันวางศิลารากอาคารเรียนหลังใหม่ เนื่องจากตรงกับวันสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นฤกษ์ที่ดี

ในการนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนอาซมซาน กอเล็ศเพื่อเป็นประธานในพิธีวางศิลารากก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่

สำหรับศิลารากอาคารหลังใหม่นั้น มีลักษณะเป็นหีบทองเหลืองมีฝาปิด ภายในหีบบรรจุหนังสือ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาอังกฤษ อันสะท้อนความเป็นสากลของโรงเรียนอาซมซานกอเล็ศในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี เมื่อพระองค์วางหีบทองเหลืองศิลารากอาคารเรียบร้อยแล้ว พร้อมมีกระแสพระดำรัสว่าให้ที่นี้ถาวรมั่นคงสืบไปสำหรับอาคารหลังใหม่ สร้างแล้วเสร็จในปี ..2433 ภายหลังอาคารหลังนี้เป็นรู้จักกันในนามตึกเก่า

ภายหลังในปี ..2513 มีการรื้อตึกเก่าเพื่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ (ตึกฟ.ฮีแลร์) หีบทองเหลืองศิลารากถูกขุดขึ้นและนำมาเก็บรักษาไว้ พิพิธภัณฑ์โรงเรียนอัสสัมชัญ จนถึงปัจจุบันและสำหรับหนังสือ 3 เล่ม 3 ภาษาที่ได้มีการบันทึกว่าถูกบรรจุไว้ในกล่องนั้นได้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาทั้งหมดแล้ว

ชิ้นที่ 2 นาฬิกาปารีส เครื่องสังเค็ดในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เครื่องสังเค็ดเป็นคำโบราณ มีความหมายว่าของที่ระลึกสำหรับงานอวมงคล โดยเครื่องสังเค็ดเป็นสิ่งของที่จัดทำเป็นพิเศษสำหรับบุคคลอย่างหนึ่ง สำหรับอารามต่างๆ ได้แก่ วัดในศาสนาพุทธ ทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายาน, โบสถ์ในศาสนาคริสต์, มัสยิดในศาสนาอิสลามและศาลเจ้ากวางตุ้งและสำหรับสถานที่ราชการต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนและโรงพยาบาล ไว้เพื่อเป็นที่ระลึก ซึ่งโดยส่วนใหญ่เครื่องสังเค็ดมักจะเป็นครุภัณฑ์หรือของที่หนัก มีความแข็งแรงทนทาน เพื่อให้เป็นของที่ระลึกในงานศพๆนั้นที่สามารถทำประโยชน์ได้ เช่น ตู้หนังสือ, ตั่งเตียง, โต๊ะหมู่, ธรรมาสน์ เป็นต้น

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเครื่องสังเค็ดในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ อาทิ ธรรมาสน์เทศน์, ธรรมาสน์สวด, หนังสือปาติโมกข์พร้อมตู้, พัดรอง, เทียนสลักพร้อมตู้ลายทองและเครื่องใช้ต่างๆของสงฆ์ สำหรับวัดพุทธ, กระถางธูป สำหรับศาลเจ้าจีน, เชิงเทียน สำหรับศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก, โคมไฟติดเพดานสำหรับมัสยิด สำหรับศาสนาอิสลาม, นาฬิกาปารีส, โต๊ะทอง เป็นต้น

นาฬิกาปารีส เป็นชื่อเรียกนาฬิกาประเภทตั้งพื้นและมีระบบการทำงานแบบตุ้มถ่วง โดยคำว่านาฬิกาปารีสเป็นชื่อที่ถูกเรียกอย่างติดปากในสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะเรียกตามเมืองที่ผลิตนั่นคือ กรุงปารีส แต่ศัพท์ภาษาอังกฤษมักจะเรียกนาฬิกาประเภทนี้ว่า Grandfather Clock (นาฬิกาคุณปู่) ด้วยมีช่วงอายุผลิตยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งนาฬิกาประเภทนี้เป็นพัฒนาการที่สำคัญที่สืบต่อมาจากนาฬิกาแดดและนาฬิกาทรายเพราะริเริ่มนำเครื่องจักรกลเข้ามาใช้

จากบันทึกระบุว่านาฬิกาปารีสเป็นหนึ่งในเครื่องสังเค็ดที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเนื่องในพระราชพิธีออกพระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้แก่สถาบันการศึกษาและโบสถ์คริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ โดยพระองค์ทรงจ้างบริษัท Francois Desire Odobez a Morez depuis 1843 ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้ผลิต โดยให้ออกแบบและจัดสร้างเป็นการเฉพาะกว่า 100 เรือน (ปัจจุบันบริษัทนี้ปิดกิจการไปแล้ว) สันนิษฐานว่าการจัดสร้างนาฬิกาปารีสในครั้งนั้นคงใช้พระราชทรัพย์สูงพอสมควรเพราะเป็นนาฬิกาที่ออกแบบและผลิตในต่างประเทศ โดยระยะเวลาที่ดำเนินการผลิตนาฬิกาปารีส ตลอดจนดำเนินการส่งไปตามสถานศึกษาและองค์กรทางศาสนานั้น เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี (ระหว่างปี ..2454-2459) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า นาฬิกาปารีส ที่อยู่ภายในโรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นเครื่องสังเค็ดที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 มอบให้กับโรงเรียนอัสสัมชัญโดยตรง ไม่ใช่มอบให้โบสถ์อัสสัมชัญตามที่หลายท่านเคยตั้งข้อสันนิษฐานไว้

คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ (ได้รับพระราชทาน 2 เรือน), โรงเรียนวัดสุทธิวราราม, โรงเรียนปรินท์รอแยลวิทยาลัยและโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย .เชียงใหม่, โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย .พระนครศรีอยุธยา, โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย .นครราชสีมา, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นต้น

ชิ้นที่ 3 โต๊ะเขียนหนังสือ เครื่องสังเค็ดในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

โต๊ะไม้พร้อมตู้เก็บหนังสือ ด้านบนปรากฏตรารูปวัชระ และข้อความพุทธศักราช 2468” ส่วนของตู้เก็บหนังสือมีประตูกระจกกรอบไม้เปิดจากด้านหน้า ลิ้นชัก และช่องใส่ของ ถัดลงมาเป็นส่วนของโต๊ะซึ่งยื่นออกจากตู้ ด้านล่างปรากฏตู้พร้อมประตูกระจกกรอบไม้เปิดจากด้านข้างพร้อมขาโต๊ะ

จากตราสัญลักษณะรูปวัชระ ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และข้อความพุทธศักราช 2468” ซึ่งเป็นปีเสด็จสวรรคตของพระองค์ สันนิฐานว่าวัตถุชิ้นดังกล่าวคงเป็นเครื่องสังเค็ดซึ่งสร้างขึ้นเนื่องในงานพระราชพิธีพระราชทางเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิรวุธ พระมงกุฎเกล้าพระเจ้าอยู่หัว

สังเค็ดหรือเครื่องสังเค็ดนั้นเสถียรโกเศศได้ให้นิยามความหมายไว้ว่า คือสิ่งของ สำหรับทำบุญเป็นทานวัตถุ เพื่ออุทิศผลแก่ผู้ตาย ซึ่งทานวัตถุนั้นอาจเป็นตู้ โต๊ะ ตั่ง เตียง หรือข้าวของเครื่องใช้อื่น สำหรับปุถุชนทั่วไปเมื่อผู้ใดตายจะมีประเพณีทำสิ่งของ หรือ นำของใช้ประจำตัวผู้ตายอย่างที่นอน หมอน มุ้ง เสื้อผ้า ฯลฯ ถวายพระ ถ้าเห็นว่าถวายไม่ได้อาจให้ทานแก่คนยากจน ซึ่งทำสืบกันมาตั้งแต่อดีต สำหรับเครื่องสังเค็ดซึ่งสร้างขึ้นในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเชื้อพระวงศ์ในช่วงเวลาดังกล่าว มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอดีต เกิดการเปลี่ยนแปลงบางประการขึ้น เนื่องจากโดยทั่วไปในอดีตเครื่องสังเค็ดจะเป็นของใช้เนื่องในพุทธศาสนา เช่น หนังสือเทศน์ พัดรอง ย่าม ผ้ากราบ ภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ ของสงฆ์ เป็นต้น และถวายให้แก่วัดวาอารามต่างๆ แต่เนื่องจากการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการสร้างโรงเรียนขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้การศึกษา ส่งผลให้โรงเรียนบางแห่งได้รับพระราชทานเครื่องสังเค็ดด้วย เครื่องสังเค็ดเหล่านี้ได้เพิ่มรูปแบบเพื่อตอบสนองการใช้งานจากเดิมมีเฉพาะของที่ใช้ในพุทธศาสนามาเป็นของที่ใช้ในโรงเรียน เช่น นาฬิกา โต๊ะเขียนหนังสือ เป็นต้น

สำหรับการสร้างโต๊ะพร้อมตู้ติดเป็นชิ้นเดียวกันชิ้นนี้ซึ่งเชื่อว่าเป็นเครื่องสังเค็ดเนื่องในงานพระราชพิธีพระราชทางเพลิงพระบรมศพ พระมงกุฎเกล้าพระเจ้าอยู่หัว พบว่าไม่ได้มีเพียงชุดเดียว แต่ยังพบอยู่อีกหลายแห่ง เช่น ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส (Neilson Hays Library) สี่พระยา, พระตําหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร และ พระราชวังพญาไท นอกจากนี้ยังพบตามสถานศึกษาที่สำคัญ เช่น วชิราวุธวิทยาลัย และโรงเรียนนครสวรรค์ เป็นต้น

ชั้นที่ 4 เปียโนเก่าในโรงเรียนอัสสัมชัญ

เปียโนเก่าหลังที่ 1แสดงให้เห็นคีย์เมื่อเปิดฝาออกและ padal ซึ่งมีเพียงสองแพเดิลเท่านั้น

เปียโนเก่าหลังที่ 1เมื่อเปิดฝาและกางที่วางโน้ตออกมาจากด้านบน

             เปียโนหลังนี้เป็นเปียโนแนวตั้ง (Upright piano) ที่มีความล้ำค่าอย่างมากเนื่องจากแสดงให้เห็นพัฒนาการของเปียโน มีอายุประมาณร้อยปี ถือได้ว่าเป็นเปียโนที่เก่าแก่สุดในพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนอัสสัมชัญ จากการศึกษาตัวอักษรที่กำกับอยู่บนเปียโน พบว่า มีอักษรเขียนอยู่บนฝาครอบเปียโนว่า Spenser London makers by the appointment to HRH Prince of Wales ส่วนด้านในมีตัวอักษรระบุบริษัท Please Piano,NewYork ซึ่งอาจเป็นชื่อบริษัทที่ผลิต และระยะช่วงการจดสิทธิบัตร (patented)ระหว่างปี 1885-1886

               เปียโนนี้มีลักษณะพิเศษอยู่หลายประการ เช่น ตำแหน่งของที่วางโน้ต เนื่องด้วยเปียโนสมัยปัจจุบันจะมีที่ตั้งโน้ตอยู่ทางด้านหน้า แต่เปียโนตัวนี้กลับซ่อนที่วางโน้ตไว้ด้านบน วิธีการกางจำเป็นต้องเปิดฝาด้านบนเพื่อนำเอาตระแกรงวางโน้ตที่พับอยู่ด้นให้ให้สามารถกางออกมาได้ กลไกเช่นนี้ไม่มีในเปียโนปัจจุบัน มีเชิงเทียนสำหรับดูโน้ตตอนกลางคืนหรืออาจเป็นไปได้ที่เปียโนตัวนี้ตั้งอยู่ในจุดที่แสงไฟสลัว

                ลักษณะพิเศษอีกก็คือกลไกการถอดเปียโน เปียโนตัวนี้มีตะขอโลหะที่ใช้ในการล็อคไม้ฝา ซึ่งถือเป็นกลไกแบบโบราณ (แตกต่างจากแบบรุ่นหลังที่ใช้เป็นล๊อคไม้) ส่วน pedal เองก็มีความพิเศษเนื่องด้วยมีเพียงสองจุดเท่านั้นแตกต่างไปจากปัจจุบันที่มี pedal ถึงสามจุด ตำแหน่งของ pedal เองก็ไม่เหมือนกับปัจจุบันโดยที่ pedal ตัวขวาสุดทำให้เสียงค้าง ซึงเปียโนปัจจุบันกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ pedal ตัวซ้ายสุด ส่วนpedal ตัวซ้ายของเปียโนหลังนี้กลับเป็นที่เยียบที่ทำให้เสียงหยุด

                  เปียโนมีไม่ถึง 88 key สุดที่ตัว A ซึ่งแตกต่างไปจากเปียโนปัจจุบัน  สายภายในเปียโนวางตัวเป็นเส้นขนานทั้งหมดโดยที่ไม่มีแนวเฉียง แตกต่างไปจากเปียโนสมัยปัจจุบันที่มีเส้นสายในแนวเฉียง สายภายในมีระบบเหมือนปัจจุบันในแง่จำนวนสาย โดยถ้าโน้ตเสียงตำใช้สายเพียงเส้นเดียวแต่มีขนาดใหญ่ เสียงระดับกลางมีสาสองเส้นและเสียงสูงมีสายถึงสามเส้นแต่มีขนาดเล็กลง ด้านในเปียโน ในแต่ละคีย์ยังมีการเขียนเลขลำดับกำกับเพื่อใช้ในการสอนช่างทำเปียโนด้วยกัน

                จากการสันนิษฐานของอาจารย์เมธัส ธรรมลงกรต (อัสสัมชนิกผู้เป็นนักเปียโนมืออาชีพ)  หัวค้อนของเปียโนหลังนี้แสดงให้เห็นว่าเปียโนหลังนี้ไม่ได้ถูกเล่นมากนักเพราะไม่มีการสึกมาก ฝีมือผู้เล่นก็น่าจะเป็นผู้ที่มีฝีมือในระดับกลางเนื่องด้วยร่องรอยสึกของค้อนจำกัดตัวอยู่เฉพาะตรงกลางเท่านั้น จากการวิเคราะห์ของอาจารย์เมธัสพบว่าผู้เล่นนิยมใช้คีย์ซีเป็นคีย์สำคัญในการบรรเลงเนื่องจากหัวค้อนของตัวโดและโน้ตสมาชิกตัวอื่นๆในคีย์ซี (C,E,G) มีความสึกหรอมากกว่าค้อนตัวอื่น

 

โบราณวัตถุที่นำมานำเสนอในบทความนี้ หลายชิ้นผูกพันกับประวัติศาสตร์โรงเรียนอันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจและความรู้สึกถึงจิตวิญญาณ (spirit) ของเราชาวอัสสัมชัญ หลายชิ้นบ่งบอกความเก่าแก่และความสำคัญของโรงเรียน ถึงขั้นว่าได้รับพระบรมราชูปถัมภ์และได้รับพระราชทานเครื่องสังเค็ตมาโดยตลอด ความภูมิใจนี้คงเป็นแรงผลักดันให้เราศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญทุกท่านมุ่งหมายที่จะทำแต่สิ่งที่ดีเพื่อให้โรงเรียนเรามีชื่อเสียงเกิยรติศักดิ์สถาวรตลอดไป