ติดต่อเรา 02-390-1062-3

“เศวต เศรษฐาภรณ์” นักกีฬายิงเป้าบินวัยเก๋าทีมชาติไทย เรื่องของความมุ่งมั่นที่ทำให้คว้าตั๋วโอลิมปิก 2020 มาครอง

สมาคมอัสสัมชัญ > Online Magazine > “เศวต เศรษฐาภรณ์” นักกีฬายิงเป้าบินวัยเก๋าทีมชาติไทย เรื่องของความมุ่งมั่นที่ทำให้คว้าตั๋วโอลิมปิก 2020 มาครอง

เรื่องโดย ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

โอลิมปิก ถือเป็นเทศกาลแข่งขันกีฬาระดับโลกที่ได้รับความสนใจมากที่สุด พร้อมกับที่ผ่านมานั้นได้สร้างการจดจำต่างๆ ให้กับนักกีฬาของไทยมากมาย ซึ่งถือว่าเป็นเวทีสำคัญของนักกีฬาทุกชนิดที่ต้องการจะก้าวเข้าไปแข่งขันในโอลิมปิกให้ได้สักครั้งในชีวิต และในการจัดการแข่งขันครั้งล่าสุดที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 นี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน และหนึ่งชนิดกีฬาที่ประเทศไทยได้ผ่านเข้าร่วมแข่งขันแล้วอีกชนิดก็คือกีฬายิงเป้าบิน

เศวต เศรษฐาภรณ์นักกีฬายิงเป้าบินทีมชาติไทย (อัสสัมชนิก เลขประจำตัว 25993 รุ่น 95) นักกีฬาวัยเก๋าที่เริ่มจับปืนยิงเป้าเมื่อครั้งที่ตัวเองอายุ 41 ปี และใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์จนสามารถคว้าเหรียญรางวัลระดับโลกมาได้ และในอีกบทบาทของเศวตในฐานะผู้บริหารของ บริษัท เอลต้า จำกัด ผู้ผลิตผลิตสิ่งทอรายใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทถุงเท้าอีกด้วย

สิ่งหนึ่งที่เศวตได้ทำอยู่นั้นก็คือเป็นนักบิน เนื่องจากเป็นสิ่งที่รัก และอยากทำมาตั้งแต่เด็กๆ โดยเศวตเล่าว่าผมเติบโตมาจากครอบครัวคนจีน โดยคุณพ่อมาจากประเทศจีน คุณแม่เป็นคนไทย มีพี่น้อง 6 คน ผมเป็นลูกคนที่ 2 แต่เป็นลูกชายคนโต ซึ่งลูกชายทุกคนของบ้านเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญทุกคน

เมื่อจบมาก็อยากไปเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร จึงไปสมัคร แต่ตอนนั้นที่โรงเรียนเตรียมทหารมีข้อจำกัดว่าถ้าบุพการีมีเชื้อชาติอื่นๆ นอกจากเชื้อชาติไทย จะไม่สามารถเข้าเรียนได้ สาเหตุที่อยากเป็นทหาร เนื่องจากเคยไปเจอลูกพี่ลูกน้องที่เป็นทหารอากาศอยู่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นลูกชายของคุณป้าที่ไปสร้างครอบครัวอยู่ที่นั่น และได้พาไปเที่ยวกองทัพอากาศ พาไปดูเครื่องบิน ห้องปฏิบัติการ และที่อื่นๆ เลยรู้สึกชอบ

เมื่อเรียนจบอัสสัมชัญแต่ไม่สามารถต่อโรงเรียนเตรียมทหารได้เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ด้านการเงินและการตลาด ในขณะเดียวกันก็อยากที่จะเรียนการบินไปด้วย จึงต้องทำเรื่องให้ครอบครัวในสหรัฐรับเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อให้ได้รับทุนการศึกษาที่จะเรียนจนได้ปริญญาด้านวิศวกรการบินมาอีกใบนึง และพอกลับมาที่ประเทศไทยก็ขอทางบ้านว่าอยากกลับไปบินอีก เลยขอไปทำงานที่การบินไทยและได้แอบไปสอบ แต่พอสอบติด คุณพ่อก็ห้ามไว้ไม่ให้ไป เลยต้องเบนเข็มตัวเองมาทำการค้า

โดยคุณพ่อทำธุรกิจนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เนื่องจากสมัยนั้นประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการผลิตอยู่น้อย ซึ่งการนำเข้าก็เป็นของใช้ที่เป็นปัจจัย 4 พวกเสื้อผ้า เครื่องใช้สำเร็จรูป ชุดนอน ชุดชั้นใน ถุงเท้า และหลังจากที่ประเทศไทยเริ่มมีการส่งเสริมในภาคอุตสาหกรรม จึงตัดสินใจตั้งโรงงานเครื่องนุ่งห่ม ผลิตเสื้อผ้าขาย และรับผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆในประเทศไทย และในช่วงที่ทุกบริษัทเริ่มมีการส่งออกกัน จึงเริ่มผลิตเสื้อผ้าสำหรับเล่นสกี ซึ่งเป็นสินค้าสิ่งทอที่ใช้เทคนิคระดับสูง

ในขณะเดียวกันน้องชายก็มาเปิดแผนกผลิตถุงเท้า และหลังจากนั้นก็มีการร่วมทุนกับนักลงทุนญี่ปุ่นเปิดเป็นบริษัท เอลต้า จำกัด ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ทำถุงเท้าส่งออกมากที่สุดในประเทศ ทำแบรนด์ของต่างประเทศ มีคนงานรวมกว่า 2,000 คน มีโรงงานอยู่ที่ศรีราชา  2 แห่ง กรุงเทพ 1 แห่ง และปราจีนบุรี 1 แห่ง และในต่างประเทศก็มีอยู่ที่ปักกิ่ง และมีหน่วยงานที่ออกแบบ วิจัย และพัฒนาอยู่ที่ญี่ปุ่น

ซึ่งผมก็ทำธุรกิจพร้อมกับบินไปด้วยเรื่อยมา ซึ่งเกือบทุกเสาร์ และอาทิตย์ ก็จะไปรวมตัวอยู่กับเพื่อนๆ ที่ สมาคมสโมสรการบินพลเรือนบางพระ บินไปทั่วประเทศ รวมถึงออกไปต่างประเทศทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ระหว่างนั้นก็มีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำทั้งไปช่วยทำฝนหลวง และบินมาเรื่อยจนถึงอายุ 40 ตอนนั้นเพื่อนที่รู้จักก็เริ่มประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับทางด้านการบินบ่อยๆ คุณแม่เลยขอให้เลิกจากการบิน ทำให้ต้องหากิจกรรมอื่นมาทำแทน

ด้วยความที่ทนแรงกดดันจากแม่ไม่ไหวในช่วงอายุ 41 ก็เลยลดการบินให้น้อยที่สุด จะบินก็เพื่อจะรักษาใบอนุญาตการบินไว้เท่านั้น และหลังจากนั้นก็มีเพื่อนแนะนำให้เข้าไปดูการยิงเป้าบินที่สนามกีฬาหัวหมาก ก่อนที่จะตัดสินใจเข้ามาฝึกกีฬาอย่างจริงจังในปีนั้นเลย ซึ่งในช่วงแรกที่เข้ามาฝึกก็ได้เลือกประเภทการยิงแบบแทรป (Trap) ที่เป็นรูปแบบการแข่งขันที่ยิงทั้งหมด 5 แท่น ผู้เล่นจะไม่ทราบล่วงหน้าว่าแต่ละแท่นยิงนั้นเป้าจะถูกดีดออกไปทางทิศไหน ซึ่งมองว่าไม่จำเจ และฝึกเรื่อยมา 1 ปีก็สามารถติดทีมชาติได้

ตั้งแต่ติดทีมชาติก็ไต่ขึ้นมาอยู่ตั้งแต่อันดับ 3 มาจนถึงอันดับ 1 ในปีที่ 2 ที่เข้าทีมชาติ ซึ่งความพยายามที่จะติดอันดับ 1 เนื่องจากสมาคมจะส่งเพียงอันดับ  1 เท่านั้นไปในการแข่งขันต่างประเทศ ซึ่งหลังจากนั้นก็ไปแข่งซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และเวิลด์คัพอยู่ตลอด แต่ขณะเดียวกันในใจก็อยากจะออกไปแข่งขันระดับโลกมากขึ้น จึงได้ไปขอนายภัฏฏการ์ก์ บุนนาค เลขาธิการสมาคมกีฬายิงเป้าบินแห่งประเทศไทย เพื่อออกไปแข่งขันระดับเวิลด์คัพปีละ 4 ครั้งด้วยทุนของตัวเอง แต่ต้องการขออนุญาติจากสมาคมฯ

ซึ่งการแข่งขันระดับโลกถือว่าเป็นการเปิดหูเปิดตา และผมเป็นคนที่อยากทำอะไรแล้วก็จะทำให้สุดๆ ก็ได้รับอนุญาตและออกไปแข่งเรื่อยมา ไต่อันดับจากรั้งท้ายๆ ในปีแรก และพยายามลองผิดลองถูกมาตลอด ไปดูศึกษาเทคนิคจากระดับแชมป์ และนำมาปรับปรุง เรื่อยมาจนอยู่อันดับต้นๆ ของรายการ โดยใช้ระยะเวลากว่า 10 ปี จนสุดท้ายก็เข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศที่จะมีแค่อันดับ 1 – 6 เท่านั้น

เศวตเล่าว่า ในระยะแรกๆ ที่เข้ารอบชิงชนะเลิศก็จะต้องเป็นคนออกคนแรกทุกครั้งไม่ว่าจะรายการไหน จนสุดท้ายได้รับคำแนะนำจากโค้ชชาวอิตาเลี่ยนท่านหนึ่ง ที่เห็นถึงความมุ่งมั่นมาโดยตลอด ว่าการจะออกมาแข่งขันอย่างจริงจังนั้น ความมุ่งมั่นอย่างเดียวมันอาจจะดีไม่เท่าความจำเป็นที่จะต้องมีคนช่วยฝึกสอน หรือมีโค้ชที่ดีด้วยจึงแนะนำโค้ชให้หนึ่งคนคือ  มาร์โค คอนติ โค้ชชาวอิตาเลี่ยนที่เป็นผู้ฝึกสอนทีมชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

https://youtu.be/jeq8BmAnDwA

หลังจากที่ได้โค้ชคนนี้มาก็เหมือนรู้ทางกัน เพราะเขาแก่กว่าผม 2 ปี ตอนนั้นผมอายุ 56 และเขาอายุ 58 ซึ่งเขาก็บอกว่าเราคงมาแนะนำคงเหมือนที่เด็กๆ ทำกันไม่ได้ อย่างเช้าให้ออกมาวิ่ง ว่ายน้ำ หรือยกเวท ด้วยอายุ และเวลาที่เราจำกัดเนื่องจากต้องทำธุรกิจไปด้วย ใช้เวลาฝึกซ้อมแค่ช่วงเสาร์ อาทิตย์เท่านั้น เขาเลยแนะนำให้มีความคิดที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองมากกว่าการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ โค้ชพาไปที่บริษัททำปืน และให้เลือกใช้ปืนที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้มาก รวมถึงใช้อุปกรณ์เดิมๆ ที่มีอยู่ ให้เลิกโทษอุปกรณ์ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการฝึกซ้อมร่วมกันอยู่เรื่อยมาประมาณ 2 ปี

โดยผลงานที่ผ่านมาก็เริ่มขยับตำแหน่งจากการที่เข้ารอบชิงชนะเลิศแล้วต้องออกเป็นคนแรกๆ ก็กลายเป็นตกรอบคนหลังๆ จนมาถึงเมื่อปี 2562 ช่วงเดือนเมษายน ก็ไปร่วมรายการชิงแชมป์โลกที่AL AIN,  UAE ซึ่งตอนนั้นก็มีความต้องการที่จะไปโอลิมปิกอยู่แล้ว จึงไปปรึกษาโค้ชว่าจะไปโอลิมปิกจะต้องทำอย่างไร ซึ่งการแข่งขันรายการนี้ก็จะมีโควต้าในกับผู้ที่ชนะเลิศ และรองชนะเลิศให้ได้ไปโอลิมปิกด้วย ซึ่งวันนั้นเองผมยอมรับว่ามีสมาธิมาก และมีความหวังว่าจะต้องได้ตั๋วใบนั้นกลับมา และในที่สุดก็ได้ตำแหน่งรองชนะเลิศ และโคต้าโอลิมปิคมาจนได้

ในรอบ 6 คนนั้นก็จะมีระดับพระกาฬ อย่าง รัสเซีย โครเอเชีย อิตาลี เยอรมนี ซึ่งวันนั้นผมมีสมาธิและพยายามดึงศักยภาพของตัวเองออกมาให้เต็มที่มากที่สุด ซึ่งการยิงเป้าบินทุกคนยิงเป็นอยู่แล้ว แต่ที่ทุกคนต้องมีคือต้องไม่โลภ หมายถึงไม่กระหายที่อยากจะได้แต้มหรือได้คะแนนเยอะ รวมถึงไม่อ่อนแอจนเกินไป เพราะการยิงเป้าบินนั้นคือการสู้กับตัวเอง ไม่ว่าคู่แข่งที่มาเจอกันจะเป็นคู่แข่งที่เราต้องไปต่อสู่กับเขา เพราะไม่ใช่กีฬาเทนนิส หรือเทควันโดที่จะต้องมีการตอบโต้หรือต่อสู่กัน ส่วนใหญ่ที่จะแพ้คือเราโลภหรือเราหลงกับคะแนนที่ทำได้

ในการเข้ารอบชิงชนะเลิศทุกครั้งของผม ตอนที่เขาแนะนำตัวนักกีฬาแต่ละคน เวลาเขาประกาศของผมจะไม่มีการประกาศรางวัลที่เคยได้รับมาเลย เนื่องจากผมไม่เคยได้รับรางวัลใหญ่ๆ ระดับโลกเหมือนนักกีฬาคนอื่นๆ ผู้ประกาศจึงได้แต่เพียงประกาศว่าแซม(เศวต) เป็นผู้แข่งขันที่อายุมากที่สุดในการแข่งขันและเชื่อว่าโอลิมปิกที่จะเกิดขึ้นนี้ผมก็คงเป็นนักกีฬาที่อายุมากที่สุดเช่นกัน เนื่องจากปกตินักกีฬาเป้าบินจะมีการปลดระวางในระหว่างช่วงอายุ 30-40 ปีเท่านั้น

เศวตเล่าว่า ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ก็คงไม่คิดว่าผมจะเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ และเป็นผู้ที่ชิงโควต้าโอลิมปิกมาได้ แต่พอได้มาแล้ว เขาก็เข้ามาแสดงความยินดี และดีใจด้วย ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ภูมิใจว่า การรับรางวัลครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่านักกีฬาไทยก็สามารถสร้างชื่อเสียงในระดับโลกได้อีกชนิดหนึ่งเช่นกัน

เศวตเล่าว่าในระหว่างที่จะถึงโอลิมปิก ก็มีอะไรมากมายที่จะทำเหมือนกัน โดยเฉพาะการไปแข่งขันซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ ในช่วงปลายปี 62 ที่ผ่านมา ซึ่งผมเองก็มีเทคนิคและประสบการณ์เพิ่มขึ้นแล้ว มีวิธีที่เมื่อเข้าไปรอบชิงชนะเลิศแล้วจะไม่ให้ออกคนแรกต้องทำยังไง แต่เมื่อไปถึงแล้วนั้นก็ต้องยอมรับว่าเป็นหนึ่งการแข่งขันที่ลำบากพอสมควรเนื่องจากการเตรียมตัวของเจ้าภาพการจัดงานยังไม่พร้อม เพราะวันที่ไปถึงนั้นก็ผ่านปัญหามาพอสมควร และเมื่อไปถึงที่พักก็ยังซ้อมไม่ได้เพราะสนามยังสร้างไม่เสร็จ และไม่สามารถทำอะไรได้อยู่รอกว่า 3 วัน

ก่อนวันสุดท้ายที่จะแข่ง สนามเพิ่งจะสร้างเสร็จ และแข่งมาเรื่อยๆ จนเข้ารอบชิงชนะเลิศ ซึ่งตอนนั้นยอมรับว่ากดดันมากเนื่องจากต้องแข้งท่ามกลางกองเชียร์ของฟิลิปปินส์ มีก่อนที่จะมีการแข่งขันก็ได้รับข่าวว่าทางประเทศไทยโทรมาว่าตอนนี้เหรียญทองของประเทศไทยนั้นยังนิ่งอยู่ที่ 84 เหรียญ อยากให้กีฬายิงเป้าบินทำเหรียญที่ 85 ให้ และสุดท้ายก็สามารถคว้าเหรียญทองซีเกมส์มาได้สำเร็จ

ขณะที่กับการแข่งโอลิมปิกที่จะถึงนี้เศวตกล่าวว่าเป็นการแข่งขันสนามใหม่อีกเช่นเคย ซึ่งก็หวังว่าในวันนั้นจะมีสมาธิมากพอที่จะดึงศักยภาพตัวเองออกมาให้ได้เต็มที่ เป้าหมายในโอลิมปิกของเศวตจริงๆแล้วนั้นอาจจะไม่ใช่การคว้าเหรียญรางวัลใดๆ แต่ต้องการไปแสดงให้เห็นว่านักยิงเป้าบินไทยก็สามารถทำผลงานได้ดีในระดับโลกเช่นกัน