ติดต่อเรา 02-390-1062-3

อเมริกา – อิหร่าน

สมาคมอัสสัมชัญ > Online Magazine > อเมริกา – อิหร่าน

โดย ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ AC109

อัสสัมชนิกเลขประจำตัว 32684

เพจ: FBนัดแนะ

แถลงการณ์ของทรัมป์เมื่อเวลา 11:00 am (ห้าทุ่มเมืองไทย) พอจะสรุปสั้นๆได้ว่า สหรัฐจะไม่ยกระดับการปฏิบัติการทหารไปมากกว่านี้และจะให้นาโต้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

แม้ทรัมป์จะไม่บอกว่าคำว่า “มีส่วนร่วม” หมายถึงอะไร แต่ก็เป็นนัยว่าสหรัฐยอมหยุด นับว่าเป็นข่าวดีของชาวโลก

สำหรับทางอิหร่านเองนั้น ก่อนที่จะยิงมิสไซล์ใส่ฐานที่พักทหารอเมริกันในอิรักนั้น ก็ได้แจ้งเตือนไปทางอิรักก่อนล่วงหน้า เพื่อให้อิรักมาเตือนสหรัฐอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้ทหารสหรัฐได้เตรียมย้ายไปหลบอยู่ในบังเกอร์ ก็เลยไม่มีใครเสียชีวิต

และตอนนี้กองทัพอิหร่านก็ไม่ได้มีแอคชั่นอะไรเพิ่มเติม

แสดงว่าอิหร่านเองที่ตอบโต้ก็เพื่อปกป้องเกียรติของตนเองตามสมควร

ก่อนที่ทรัมป์จะแถลงการณ์ โทรทัศน์ CNN ได้เชิญ”ผู้เชี่ยวชาญ”มากมายมาให้ความเห็น แต่ละคนก็พูดกันไปหลายทาง ทั้งยั่วยุว่าอิหร่านนั้นเอาแน่นอนไม่ได้ ทั้งทำให้กลัวสงคราม ฟังไม่ค่อยได้เรื่องราวอะไร

มีเพียงคนเดียวที่พูดแล้วเข้าท่าเข้าทาง คือ พันเอกแอนดรูว์ บาเซวิช (Andrew Bacewich) อดีตนายทหารบกของกองทัพสหรัฐ

ผู้การแอนดรูว์แกบอกว่า ณ ตอนนี้ความเคลื่อนไหวทางทหารของทั้งสองฝ่าย เปรียบเสมือนการส่งข้อความ (message) ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐ-อิหร่าน

การตอบโต้โดยมิสไซล์อิหร่านแบบเตือนล่วงหน้า คือ การบอกว่าอิหร่านไม่ยอมง่ายๆแต่ไม่ประสงค์สงคราม ส่วนหลังจากนี้จะเอาไงต่อ ก็แล้วแต่ว่าฝ่ายสหรัฐเลือกจะตีความอย่างไร

ผู้การแอนดรูว์แกขยายความเพิ่มเติมว่า การส่งข้อความแบบนี้เสมือนกับวิกฤตการณ์คิวบา (Cuban Missile Crisis) ในยุคสงครามเย็นเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1962 ในตอนนั้นจอห์น เอฟ เคนเนดี้ คือ ปธน.สหรัฐ ส่วนครุสชอฟ คือ ปธน.โซเวียต

ที่เรียกว่า Cuban Missile Crisis ก็เพราะว่าฝ่ายโซเวียตนำเอาอาวุธมิสไซล์มาตั้งอยู่ที่คิวบา ซึ่งใกล้ๆกับฟลอริด้าชนิดรดต้นคอ เป็นภัยคุกคามที่ชัดเจนต่อประเทศสหรัฐอเมริกา

ในขณะนั้นฝ่ายทหารสหรัฐอยากทำสงครามเต็มแก่ ทว่าปธน.เคนเนดี้ต้องการหลีกเลี่ยงสงคราม แต่ประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศไม่สามารถยกโทรศัพท์คุยกันตรงๆได้

จุดอันตรายก็คือ ฝ่ายสหรัฐตรวจพบว่ามีเรือขนส่งสินค้าโซเวียตมุ่งตรงเข้ามาที่คิวบา ซึ่งคาดว่าเป็นหัวรบนิวเคลียร์ที่จะนำมาใช้ยิงใส่แผ่นดินสหรัฐ

สหรัฐในขณะนั้นสามารถที่จะใช้กองทัพเรือยิงปืนใหญ่จมเรือสินค้าโซเวียตเสียเลยก็ทำได้ แต่แนวทางที่ปธน.เคนเนดี้เลือกก็คือให้กองทัพเรือนำเรือรบหลายลำมาแล่นเพื่อสร้างแนวบล็อคขวางอ่าวคิวบา เป็นกำแพงเสมือน เพื่อส่งสัญญาณบอกปธน.ครุสชอฟแบบนุ่มๆว่าสหรัฐไม่ยอม

เคนเนดี้ให้ความสำคัญกับการบล็อคทางทะเลนี้มาก เพราะรู้ว่าหากมีอะไรผิดพลาดแม้เพียงนิด เช่น เรือรบสหรัฐพลั้งยิงกระสุนเพียงนัดเดียวใส่เรือโซเวียต อาจจะเป็นชนวนสงครามโลกครั้งสามก็ได้

เคนเนดี้จึงส่งรมว.กลาโหม คือ นายโรเบิร์ต แมคนามารา ไปนั่งคุมการปฏิบัติงานของกองทัพเรือถึงในห้องยุทธการ จนกระทั่งเรือโซเวียตยอมหันหลังกลับและไม่เกิดเหตุอะไร

ในขณะนั้นก็มีจดหมายส่งโต้ตอบกันไปมานับสิบๆฉบับระหว่างผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศทั้ง
สองประเทศ จดหมายจากโซเวียตนั้นมีทั้งฉบับที่เนื้อหารุนแรงและเนื้อหาประนีประนอม

จุดที่น่าสนใจคือ เคนเนดี้”เลือก”ที่จะตอบเฉพาะจดหมายที่เนื้อหาประนีประนอม และทำเป็นว่าไม่เคยเห็นไม่เคยได้รับจดหมายฉบับเนื้อหารุนแรง และส่งน้องชายของตนเองคือ โรเบิร์ต เคนเนดี้ (รมว.ยุติธรรม) ไปนั่งคุยกันฉันมิตรกับทูตโซเวียตประจำอเมริกาซึ่งรู้กันว่าเป็นสายลับสายตรงของครุสชอฟ จนกระทั่งทั้งสองประเทศผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี

นั่นคือเหตุการณ์ครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกาที่เฉียดสงครามนิวเคลียร์ที่สุด แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยการเลือกเส้นทางที่ประนีประนอม

ใครสนใจเรื่องคิวบามิสไซล์นี้ ไปลองหาชมภาพยนตร์เรื่อง Thirteen Days ได้นะครับ เล่าเรื่องนี้ได้ดีมากๆ กระจ่างเรื่องการทูตในยุคสงครามเย็นจริงๆ

ส่วนว่าโลกเราในยุค 2020 นี้จะเป็นอย่างไร เราก็ได้แต่หวังว่าผู้นำของชาติต่างๆที่มีกำลังในมือ จะเลือกประนีประนอมมากกว่านำโลกไปสู่จุดที่เรียกว่า Point of No Return

เพจ: นัดแนะ
https://m.facebook.com/174664150067376/posts/519100295623758?d=n&sfns=mo