โดย ครองขวัญ รอดหมวน

“ภาคการส่งออก” เป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยกว่า 70% ของจีดีพี มาจากภาคการส่งออกทั้งสิ้น และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าตลาดการส่งออกของประเทศไทย กระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวพบว่า คู่ค้าที่สำคัญของไทยอยู่ในกลุ่มอาเซียน
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันตลาดในกลุ่มอาเซียนได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลก ว่ามีศักยภาพในการเติบโตอย่างโดดเด่น จนกลายเป็นที่จับตามองว่ากลุ่มประเทศอาเซียนจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพระดับโลก ด้วยศักยภาพที่เต็มเปี่ยมนี้เอง กำลังจะกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนให้กลุ่มประเทศในอาเซียนก้าวเข้าสู่เวทีการค้าโลกอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council : ASEAN BAC) จึงถูกตั้งขึ้นมาตามมติที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 7 เมื่อเดือน พ.ย. 2544 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ดารุซซาลาม เพื่อเป็นกลไกปรึกษาหารือของภาคธุรกิจอาเซียนที่รวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการรวมตัวทางเศรษฐกิจภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน และการจัดทำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นกี่ยวกับการรวมตัวของเศรษฐกิจในอาเซียนและการร่วมมือทางเศรษฐกิจในอาเซียน เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและผู้นำอาเซียนในแต่ละปี
และในปี 2562 นี้ ในวาระที่ “ประเทศไทย” ได้รับหน้าที่เป็นประธานอาเซียน โดยในภาคเอกชนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ อรินทร์ จิรา (อัสสัมชนิกเลขประจำตัว 23236 รุ่น 80 ) ผู้แทนภาคเอกชนไทย ที่ได้ทำหน้าที่ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ที่ได้เริ่มเล่าถึงเส้นทางการทำงานในบทบาทนี้ ซึ่ง “อรินทร์” ได้เริ่มเข้าร่วมภารกิจอาเซียน
ในบทบาทของภาคเอกชนตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับเกียรติให้ประธานอาเซียนภาคเอกชนถึง 3 ครั้ง ในปี 2551, ปี 2552 และในปัจจุบัน (ปี2562)
ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียน คือ การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน และการเชื่อมโยงอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก
“อรินทร์” เล่าว่า ASEAN BAC ในปีนี้ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ได้กำหนดหัวข้อหลักของการดำเนินงาน คือ Empowering ASEAN 4.0 ซึ่งหัวข้อดังกล่าวมีความสอดคล้องและสนับสนุนกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล “Thailand 4.0” ที่มุ่งเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งยังเป็นการแสดงบทบาทของประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนในการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนภูมิภาคไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัลอย่างมีคุณภาพ และประสิทธิภาพ
โดยมีหัวข้อหลักที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัล (Digital Infrastructure) รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล, การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนทางด้านดิจิทัล (Digital Connectivity), การพัฒนาทักษะและเพิ่มพูนความสามารถและแรงงานทักษะเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล (AHEAD – ASEAN Human Empowerment and Development in the 4IR)และการส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดจิ๋ว Micro, Small & Medium Enterprise (MSME) โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่และผู้ประกอบการสตรี รวมถึงช่วยเหลือ MSME ผ่านโครงการพี่ช่วยน้อง (AMEN : ASEAN Mentorship for Entrepreneurs Network)
จะเห็นได้ชัดเจนว่า ASEAN BAC ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่อง “เศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอย่าง Thailand 4.0 ที่หลายคนจึงไม่ค่อยมีความรู้ เพื่อเตรียมพร้อมในเรื่องนี้มากเท่าไหร่
การผลักดันเพื่อให้เกิดความรู้และเข้าใจจึงกลายมาเป็นภารกิจที่สำคัญ การนำเรื่องดังกล่าวเข้ามาอยู่ในแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกมิติ และหัวใจสำคัญที่ว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจอาเซียน 4.0 ไปด้วยกัน ไปพร้อม ๆ กัน จึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้มาระยะหนึ่งแล้ว อรินทร์ ระบุ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลยืนยันเสมอว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยปรับตัวได้ดีขึ้น แต่หากลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่า การปรับตัวที่ดีขึ้นนั้น เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่หรือกลุ่มธุรกิจระดับบนเท่านั้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจระดับล่าง ผู้ประกอบการรายย่อยยังคงประสบปัญหาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ เพราะต้องยอมรับว่ามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้พยายามผลักดันออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เน้นขับเคลื่อนที่ภาพใหญ่ ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เดินหน้าไปได้ แต่ในมุมของ ASEAN BAC กลับมองว่า การขับเคลื่อนให้กลุ่ม MSME เดินหน้าต่อไปในการแข่งขันของภาคธุรกิจเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในยุคที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยี อย่างยุค “เศรษฐกิจดิจิทัล”
เพราะจากข้อมูลจะพบว่า กลุ่ม MSME มีสัดส่วนสูงถึง 40% ของจีดีพี อีกทั้งแรงงานที่อยู่ในกลุ่มนี้ ก็มีสูงถึง 60-70% ของแรงงานทั้งหมด และกว่า 90% ของผู้ประกอบการ MSME ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่หรือการดูแลให้ความช่วยเหลือของบริษัทขนาดใหญ่ ตรงนี้จึงกลายมาเป็นอีกภารกิจสำคัญที่ ASEAN BAC จะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ดูว่ามีอุปสรรคจากการค้า การลงทุนระหว่างกันในกลุ่มอาเซียนเกิดขึ้นตรงจุดไหน ก็ต้องเข้าไปแก้ไข โดยจะมีการวางเป้าหมายที่จะผลักดันในแต่ละภารกิจให้สำเร็จลุล่วงในแต่ละปี ทำอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ประสบผลสำเร็จในภาพรวม
อีกสิ่งสำคัญในการเดินหน้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่นั้น ประเด็นเรื่องการพัฒนาทักษะ ฝีมือแรงงาน ก็กลายมาเป็นวาระที่ภาคเอกชนไม่มองข้าม โดยในฐานะประธาน ASEAN BAC ได้มีการประสานความร่วมมือกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการผลักดันประเด็นดังกล่าวให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจ โดยการจัดทำเอกสารแนวทางการพัฒนาแรงงานทักษะ และผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Guideline on Skilled Labors and/or Professional Services Development in ressponse to the Fourth Industries Revolution) ซึ่งเอกสารดังกล่าวได้เตรียมที่จะเสนอผู้นำอาเซียนในเดือน พ.ย. 2562 ต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอที่ประชุม ASEAN BAC เพื่อบรรจุเป็นโครงการพิเศษที่ภาคเอกชนของประเทศเจ้าภาพให้การผลักดันภายใต้โครงการเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ (AHEAD Legacy Project) ซึ่งที่ประชุม ASEAN BAC ให้ความเห็นชอบและสนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการ AHEAD ในกรอบอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เป็นข้อเสนอของภาคเอกชนที่จะเสนอต่อภาครัฐ เพื่อกำหนดแผนงานและมาตรการที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาแรงงานทักษะ และ/หรือผู้ประกอบวิชาชีพในการเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
สุดท้ายนี้ “อรินทร์” ยังฝากมาเรียนเชิญเพื่อ ๆ น้อง ๆ อัสสัมชนิกที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ASEAN Business and Investment Summit 2019 (ABIS) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 และ 3 พฤศจิกายน 2562 ณ ฮอลล์ 6 ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งมีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับแวดวงธุรกิจ อุตสาหกรรม การค้า และการลงทุนต่างๆของนักธุรกิจไทยไม่มากก็น้อย
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม: https://share1.cloudhq-mkt3.net/fa8e2428bf4d5a.jpeg
ASEAN Facts