ติดต่อเรา 02-390-1062-3

“สุวบุญ จิรชาญชัย” ให้ความสำคัญกับระหว่างทาง แล้วจะเป็นสุขกับความสำเร็จที่ปลายทาง

สมาคมอัสสัมชัญ > Online Magazine > “สุวบุญ จิรชาญชัย” ให้ความสำคัญกับระหว่างทาง แล้วจะเป็นสุขกับความสำเร็จที่ปลายทาง

ถือเป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องยอมรับในความสามารถ สำหรับ ศ.ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย” อัสสัมชนิกรุ่น 96 เลขประจำตัว 25069 คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในแถวหน้าผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสาขาเคมี โดยเฉพาะเรื่องพอลิเมอร์ชีวภาพ พอลิเมอร์สังเคราะห์ พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastics) กับการเปิดอีกมุมของชีวิต ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจในแต่ละบทบาทที่ทำ ก่อนจะก้าวขึ้นมายืนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านเคมี พอลิเมอร์ชีวภาพ

“ศ.ดร.สุวบุญ” เล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้มีความสนใจที่จะไปเรียนในด้านเคมี เทคโนโลยีวัสดุเลย มีเพียงความคิดเหมือนเด็กทั่วๆ ไปในยุคสมัยนั้นว่า จะต้องตั้งใจเรียนเพื่อที่จะได้เป็น “หมอ” นั่นคือพื้นฐานอาชีพที่นักเรียนสายวิทย์ฯส่วนใหญ่วางแผนเอาไว้ ก่อนที่จะมีประเด็นที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเข้ามา คือ ได้ทุนรัฐบาลไทย (ทุน ก.พ.) ให้เข้าไปศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยโอซากา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมีประยุกต์ (Applied Fine Chemistry) ประเทศญี่ปุ่น

ผมไปลองสอบชิงทุน เพราะอยากทดสอบตนเอง และสุดท้ายก็ได้ทุนมาจริงๆ เป็นทุนของ ก.พ. ไปเรียนที่ญี่ปุ่น ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีใครไปญี่ปุ่น ญี่ปุ่นกับคนไทยยังเป็นอะไรที่ไกลกันมาก และอีกประเด็นที่ทำให้ต้องคิดหนักก่อนจะตัดสินใจ เพราะผมได้เอาเรื่องนี้ไปปรึกษาอาจารย์หลายคน แต่ก็ไม่มีใครสนับสนุนให้ผมไปเท่าไหร่ แต่ท้ายที่สุด เรียกว่านาทีสุดท้ายเลยก็ว่าได้ ที่ตัดสินใจไปเรียนที่ญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีคนค้านเยอะก็ตาม

ผมคิดค่อนข้างเยอะเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มีจุดหนึ่งที่ทำให้เราคิดไปไกลว่า “ลองดูสักครั้ง” เพื่อเป็นเกียรติประวัติกับตัวเอง และครอบครัว และอีกประเด็น คือ ผมเริ่มไม่แน่ใจกับตัวเองแล้วว่าอยากเรียน “หมอ” จริงๆ ตามค่านิยมของยุคสมัยนั้นหรือเปล่า ผมเริ่มไม่มั่นใจว่าตัวเราเองชอบหรือมันใช่ทางของเราหรือไม่ คิดอยู่พักใหญ่ และต้องยอมรับตรงๆ ว่า ตอนนั้นค่อนข้างลังเลมากเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ได้คำตอบออกมาตอนไปญี่ปุ่น มีเพื่อนร่วมรุ่นไปด้วยกันทั้งหมด 5 คน ตอนนั้นผมไม่ได้มีการเตรียมตัวอะไรเลย แต่เพื่อนร่วมรุ่นที่ไปด้วยกันทุกคน “เก่งจัด” จนผมดูธรรมดาไปเลย ทุกคนสื่อสารภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้นกันได้หมดเพราะเตรียมตัวกันมา ในขณะที่ผมพูด ฟัง อ่าน เขียน ไม่ได้เลย ทำให้ผมรู้สึกหนักใจเหมือนกัน ไปถึงก็ต้องมีเรียนภาษาก่อนประมาณ 1 ปีเศษ ระหว่างนั้นเราก็ใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นไปเรื่อยๆ เริ่มจากไม่เป็นอะไรเลย จนค่อยๆ ปรับตัว ใช้เวลาปรับตัวอยู่ประมาณ 8 เดือน จนท้ายที่สุดวันหนึ่งก็เจอกับเรื่องน่าประหลาดใจ ว่า “อยู่ๆตอนนั่งอยู่ในรถไฟเราก็สามารถฟังคนญี่ปุ่นที่นั่งอยู่ข้างๆรู้เรื่อง รู้ว่าเขาพูดอะไรกัน มันก็เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์เรื่องหนึ่งเลยทีเดียว”

ความมหัศจรรย์ตรงนี้เอง ทำให้เราเกิดความคิดอีกแบบหนึ่งว่า คนเรานี่มีความประหลาดอยู่ในตัว บางครั้งเมื่อเราสัมผัสสิ่งนั้น สิ่งที่เราไม่ถนัด ไม่คุ้นเคย ไม่คุ้นชินมากๆขึ้น เราจะเริ่มปรับตัว และท้ายที่สุดเราก็จะเข้าใจในสิ่งนั้นๆไปเอง เหมือนกับ “ศ.ดร.สุวบุญ” ที่เมื่อได้สัมผัสภาษาญี่ปุ่นมากๆเข้าก็กลายเป็นการซึมซับ จนในที่สุดก็เข้าใจกับสิ่งนั้นได้

มาถึงตรงนี้ “ศ.ดร.สุวบุญ” บอกว่า ตอนนั้นผมเริ่มสนุกกับการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นมากขึ้น จนผมไม่ได้รู้สึกคิดถึงบ้าน หรือรู้สึกว่าเหงาเลย แม้ว่าตลอดช่วงเวลา 7-8 เดือนก่อนหน้านั้นจะเหนื่อยมาก เหนื่อยจนมีคำถามเกิดขึ้นในหัวอยู่บ่อยๆ ว่า “เราจะไหวไหม” แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้

อีกหนึ่งข้อคิดที่ “ศ.ดร.สุวบุญ” ได้รับจากการไปเรียนที่ญี่ปุ่น คือ สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมต้องสู้ ทุกอย่างต้องสู้ คนญี่ปุ่นจะมีเป้าหมายที่สูงอยู่ตลอดเวลา มันจึงทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ผมควรจะทำตัวอย่างไรในสังคมที่ต้องสู้เช่นนี้ หากเรามีเป้าหมายชัดเจน เราจะดำเนินการแต่ละอย่างให้ครบเพื่อไปสู่เป้าหมาย และเราจะบอกตนเองเสมอว่าไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ระหว่างทางกว่าจะถึงความสำเร็จ แม้จะยากลำบากระหว่างทาง แต่เราจะได้รู้จักกับความสุขของความสำเร็จปลายทาง นี่คือสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นที่สอนให้ผมทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด สังคมญี่ปุ่นไม่ได้มองคนที่ความเก่งหรือฉลาด แต่มองว่า “ทุกคนมีเท่ากันหมด จะทำได้หรือไม่ได้ อยู่ที่ความพยายาม” ดังจะเห็นได้ว่า อาจารย์เค้าจึงไม่ชมนักเรียนที่ทำคะแนนสอบได้ดีว่า เก่ง แต่ชมว่า gambatta (พยายามมาดีนิ) นี่เป็นอีกจุดที่ผมถูกหล่อหลอมจากการเรียนที่ญี่ปุ่น

“ศ.ดร.สุวบุญ” โดยได้รับการเชิญชวนให้มาเริ่มต้นเส้นทางการเป็นอาจารย์ใน “วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ที่ก็พึ่งก่อตั้งขึ้นได้ไม่นานในช่วงต้นปี 90 ด้วยวิทยาลัยฯมีพันธกิจในการผลิตบุคคลากรเพื่อป้อนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีในช่วงที่เกิดขึ้นในช่วงปี 80 ที่เราเรียกกันว่า “โชติช่วงชัชวาล” ผมจัดว่าเป็นบุคลากรชุดแรกๆของวิทยาลัยฯเลยทีเดียว

ผมศึกษาด้านโพลิเมอร์ทางการแพทย์ ซึ่งก็ครอบคลุมโพลิเมอร์สังเคราะห์ที่หลากหลายประเภท และก็ได้พัฒนางานวิจัยมาในด้านโพลิเมอร์ชีวภาพและไบโอพลาสติกด้วย ผมรับหน้าที่สอนวิชาด้านพอลิเมอร์เคมี เช่น โพลิเมอร์สังเคราะห์ โพลิเมอร์วิเคราะห์ และ หัวขัอพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างเพื่อการประยุกต์ใช้

ปัจจุบันเราอยู่ท่ามกลางเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (disruptive technology) หากเราบอกว่า มือถือเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารและกำลังมาแทนที่สื่อทุกรูปแบบ ผมก็อาจจะพูดได้ว่า ขณะนี้พลังงานปิโตรเลียมกำลังถูกทดแทนด้วยพลังงานไฟฟ้า และ พลังงานทางเลือกทุกรูปแบบ พลาสติกจากปิโตรเคมีกำลังถูกเรียกร้องถึงการทดแทนด้วยพลาสติกย่อยสลายได้และถูกนำไปสู่ภาพของการเป็นมหันตภัยต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้ทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องมีการปรับตัว ในขณะที่ภาครัฐก็ได้มีโครงการที่รองรับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกนี้มาเป็นแนวทางด้วย และนี้เองที่ทำให้อุตสาหกรรมด้านพลาสติกปิโตรเคมีได้ต่อยอดเทคโนโลยีให้สอดรับกับไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับการคาดหวังการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนี้

“ไบโอพลาสติกถูกพูดถึงและเชื่อมโยงไปกับการลงทุนในโครงการอีอีซีด้วย และในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกนี้ บทบาทของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมก็จำเป็นต้องปรับตัว และพร้อมที่จะก้าวไปกับอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ (New Wave Industry) สำหรับวิทยาลัยฯ เรากำลังมีโครงการที่จะปรับให้การศึกษาและวิจัยของเราเป็นการสร้างเทคโนโลยีให้แก่อุตสาหกรรมดังกล่าว ที่เราเรียกว่าทรานฟอร์มตัวเองจากเทคโนโลยีฐานปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สู่ฐานชีวภาพ เพื่อให้ตอบโจทย์ทิศทางประเทศ และสร้างความตระหนักให้แก่คนรุ่นใหม่ให้สนใจที่จะศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆนี้ เราอยู่ระหว่างการจัดทำหลักสูตรใหม่ โดยดึงต่างชาติมาร่วมสอน แล้วอาจจะให้เป็นดับเบิ้ลดีกรี คือ มีปริญญาด้านเทคโนโลยีฐานปิโตรเคมี และด้านฐานชีวภาพ ตรงนี้ก็จะช่วยให้เยาวชนมีช่องทางในการทำงานที่กว้างขึ้นด้วย”

ท้ายสุด ศ.ดร.สุวบุญ ได้กล่าวถึงตนมีความภูมิใจในการเป็นอัสสัมชนิก และ ยังมีความคาดหวังเสมอที่จะให้โรงเรียนมีชื่อเสียง ธำรงไว้ซึ่งเป็นอันดับต้นๆของประเทศ “สิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ คือ การที่ตนเองมีวินัย และมีศักยภาพด้านภาษาอังกฤษสูง เมื่อเทียบกับนักเรียนในวัยเดียวกันขณะนั้น และอาจถือได้ว่าเป็นอานิสงส์ของไม้เรียวของมาสเตอร์และมิส ตลอดจนบราเดอร์ท่านต่างๆ แม้ว่า สิ่งเหล่านี้ อาจไม่สามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน แต่ตนก็ขอให้โรงเรียนได้รักษาการอบรมนักเรียนให้มีวินัย และ สร้างนักเรียนให้เก่งภาษาอังกฤษต่อไป และยินดีที่จะช่วยให้โรงเรียนอันเป็นที่รักของศิษย์เก่าทุกคนมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับต่อๆไป