ติดต่อเรา 02-390-1062-3

“นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย” บูรณาการระบบการทำงานรับมือสถานการณ์ท้าทาย ภายใต้โจทย์คนไทยต้องมีสุขภาพดี

สมาคมอัสสัมชัญ > Online Magazine > “นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย” บูรณาการระบบการทำงานรับมือสถานการณ์ท้าทาย ภายใต้โจทย์คนไทยต้องมีสุขภาพดี

โดย ครองขวัญ รอดหมวน

อัสสัมชัญสร้างให้นักเรียนทุกคนเป็นนักเปลี่ยนแปลง ชอบและรักในการทำงานที่ท้าทาย ภายใต้กระบวนการที่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์โดยมีจุดแข็งสำคัญ คือ การมีศักดิ์ศรี ความซื่อสัตย์สุจริต การทำงานที่มุ่งผลลัพธ์ เหล่านี้ถูกปลูกฝังไว้ในสายเลือดของอัสสัมชนิกทุกคนและ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะอัสสัมชนิกรุ่น 93 เลขประจำตัว 23692 ได้มีการนำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงานในปัจจุบันด้วย

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประชาชนจึงได้เห็นบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจนในฐานะกระทรวงที่มีส่วนสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ทั้งในด้านภารกิจหลังนั่นก็คือการสาธารณสุข สุขอนามัย และความเกี่ยวเนื่องในด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งนายแพทย์สุขุมได้เล่าถึงบทบาทการทำงานที่ท้าทายในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลทุกอย่างถูกเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด ทั้งด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ สังคม การติดต่อสื่อสาร การเดินทาง ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวมว่า ในแง่มุมของด้านสาธารณสุขแล้ว การพัฒนาระบบในการติดตามข้อมูลข่าวสารเป็นประเด็นสำคัญ ในการเตรียมความพร้อม เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้มีการตั้งศูนย์เพื่อควบคุมโรค มีเวร 24 ชั่วโมงในการติดตามข่าวการแพร่ระบาดของโรคต่าง การมีระบบที่ดี ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้ ทุกอย่างต้องเดินไปพร้อมกันทั้งความพร้อมของเครื่องมือ ความพร้อมและประสบการณ์ของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน การสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน สถานพยาบาล เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะมีการเจ็บป่วยอยู่ที่จุดไหน ก็สามารถเข้ารับการรักษาจนหายได้เหมือนกัน!

และแน่นอนว่า อีกหนึ่งภารกิจที่ท้าทายและมีความสำคัญอย่างมากของนายแพทย์สุขุมในฐานะปลัดกระทรวงสาธารณสุข นั่นคือ การรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งยังพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนายแพทย์สุขุมได้อธิบายเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่เพิ่งพบ และเริ่มมีการรับรู้ถึงการแพร่ระบาดตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยต้นกำเนิดมาจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทันทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น รัฐบาลไทยก็ตื่นตัว เริ่มมีการประชุมหารือกันตั้งแต่ช่วงปีใหม่ และได้มีการเปิดวอร์รูม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในทันที

ที่ผ่านมาการตั้งรับของไทยทำเต็มที่ 100% ผ่านการคัดกรองทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศจีน โดยเฉพาะจากเมืองอู่ฮั่น ใน 5 สนามบินทั่วประเทศอย่างละเอียด ก่อนจะมีการยกระดับความเข้มข้นในการคัดกรองทุกคนทั้งที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเสี่ยง และการตรวจคัดกรองกลุ่มคนที่แม้จะไม่ได้เดินทางมาจากจีน แต่มีการทำงาน หรือคลุกคลีกับคนจีน อาทิ คนขับรถแท็กซี่ที่รับส่งผู้โดยสารชาวจีน คนขับรถทัวร์ให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ทำการค้าขายกับคนจีน เป็นต้น ก็ต้องนำบุคคลเหล่านี้มาตรวจคัดกรองอย่างละเอียดด้วย ซึ่งเกณฑ์ในการตรวจวินิจฉัยนอกเหนือจากคุณลักษณะดังกล่าวแล้ว หากมีอาการไข้ ไอ หายใจติดขัด และเมื่อมีการตรวจเลือดพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ต้องเร่งดำเนินการตามกระบวนการรักษาทันที ทั้งหมดนี้ถือเป็นความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

โดยทั้งหมดนี้ ดำเนินการควบคู่ไปกับระบบการให้ความรู้ ให้คำแนะนำทั้งนักท่องเที่ยว และประชาชนในประเทศ เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่าคนที่เจ็บป่วยทุกคนไม่ได้มีใครอยากตายดังนั้นเมื่อเวลาเกิดการเจ็บป่วย ต้องทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ว่าควรจะไปที่ไหน ให้ตรงจุด เพื่อลดการสูญเสีย

นายแพทย์สุขุมยอมรับว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน หรือยาที่ใช้เฉพาะเพื่อรักษา โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการค้นคว้าทางวิชาการใหม่เกี่ยวกับเชื้อไวรัสดังกล่าว ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ดังนั้นระหว่างนี้จำเป็นจะต้องรักษาตามอาการ และหากผู้ป่วยรักษาสุขภาพจนร่างกายแข็งแรง ก็จะหายจากโรคได้เช่นกัน

สิ่งที่สำคัญในขณะนี้ ไม่แพ้เรื่องอื่นๆ คือ การให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชนในการป้องกันตัวเอง เพราะตามข้อเท็จจริงที่ว่าไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสที่พบขึ้นใหม่ แต่พฤติกรรมก็เหมือนไวรัสทั่วไป คือแพร่ระบาดผ่านสารคัดหลั่ง ไม่ได้ติดต่อกันผ่านทางอากาศ และโดยหลักการเชื้อไวรัสชนิดนี้จะอยู่ในอุณหภูมิปกติได้ 4-6 ชั่วโมง แต่หากอยู่กลางแดดที่อากาศร้อนจัด จะอยู่ได้ 1 ชั่วโมง หากอยู่ในอากาศเย็นมากๆ ก็อาจจะอยู่ได้เป็นวัน ดังนั้นการให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตัวเอง ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย งดใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ การทานอาหารจากภาชนะเดียวกัน เป็นต้น การหลลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน การล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลล้างมือที่มีปริมาณแอลกอฮอร์เกิน 70% ก็จะเป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องกันตัวเองนายแพทย์สุขุมระบุ

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 คือ ผู้ป่วยทุกคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกับคนจีน หรือประเทศเสี่ยง โดยปัจจุบันพบว่า มีผู้ติดเชื้ออยู่ในประเทศไทยทั้งสิ้น 35 ราย (ตัวเลขตามสถานการณ์ วันที่ 16 กพ. 63)

จากการตรวจคัดกรองอย่างละเอียดจากกว่า 2 ล้านคน โดยเบื้องต้นมีการประเมินว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโรคนี้จะมีระยะเวลาประมาณ 6 เดือน แต่หากทุกประเทศมีมาตรการควบคุมและป้องกันที่ดีเพียงพอ ก็เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลายได้เร็วยิ่งขึ้น

นายแพทย์สุขุมมองว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และถือว่าทำได้เป็นอย่างดี ทั้งในการเป็นด่านแรกสำหรับการคัดกรองคนที่จะเข้าประเทศ การทำหน้าที่ในการให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ป่วยทุกราย การมีระบบการรักษาพยาบาล การส่งต่อ และการส่งเสริม ตลอดจนการพัฒนาสุขอนามัยของประชาชนและชุมชน กระทรวงสาธารณสุขยืนยันมาโดยตลอดว่า เชื้อโรคชนิดนี้ไม่ใช่เชื้อโรคร้ายแรงจนถึงขึ้นที่จะป้องกันไม่ได้ แต่การป้องกันจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ที่เพียงพอ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง

ไม่เพียงแค่บทบาทในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดใหม่เท่านั้น แต่ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข ยังมีอีกหนึ่งงานที่ท้าทายไม่แพ้กัน จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกี่ยวกับเรื่องนี้นายแพทย์สุขุมระบุว่า หน้าที่หลักในการแก้ปัญหาเรื่อง PM 2.5 อาจจะไม่ใช่ของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง แต่ที่ผ่านมาก็ได้มีการทำงานประสานความร่วมมือในการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ผ่านกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงฯ นั่นคือ การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการระมัดระวังป้องกันตัว และรับมือ ไปจนถึงการดูแลตัวเองเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว รวมถึงได้พยายามชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทั้งในระยะสั้น และระยะยาวจากปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สูงมากที่จะมีผลต่อร่างกาย โดยกระบวนการทั้งหมดจะสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้เดินหน้าควบคู่ไปกับการที่ประชาชนต้องมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลและใส่ใจสุขภาพของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ

และกับอีกหนึ่งเหตุการณ์สะเทือนขวัญกราดยิงที่โคราช” “นายแพทย์สุขุมก็ไปร่วมทำหน้าที่สั่งการ และประสานงานร่วมกับ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล (อัสสัมชนิกเลขประจำตัว25684 รุ่น98) โดยในสถานการณ์ที่บีบคั้นและกดดันขณะนั้น บุคคลากรทางการแพทย์ทุกคน ต่างก็พร้อมใจกันเข้าไปทำงานตรงจุดนั้น ทุกคนมาทำงานด้วยใจ เพราะไม่เพียงการดูแลผู้บาดเจ็บที่ถือเป็นหน้าที่สำคัญ แต่การดูแลสภาพจิตใจของญาติพี่น้องผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตก็ถือเป็นอีกภารกิจสำคัญไม่แพ้กัน

ทุกอย่างต้องทำงานประสานกันทั้งหมด สร้างระบบในการรับคนไข้ สร้างระบบในการดูแลรักษา การส่งต่อให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสีย

สำหรับหลักคิดในการทำงานที่สำคัญของนายแพทย์สุขุมคือพี่น้องประชาชนคนไทยต้องมีสุขภาพที่ดีดังนั้นจึงไม่ใช่ปัญหาแม้ว่าจะมีสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้นมากมายแค่ไหน หากระบบการทำงานมีความพร้อมเพียงพอ มีการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระเบียบและสอดประสานกัน มีการพูดคุยหารือ เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานที่ชัดเจน ก็จะสามารถผ่านทุกปัญหาไปได้ โดยมีเป้าหมายจุดเดียวกันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

สิ่งสำคัญในการทำงาน คือ ความรัก ความเสียสละ ความสามัคคีของบุคลากรทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเป็นภาคี ร่วมมือกันทำงาน เมื่อเห็นปัญหาที่เป็นภัยต่อสุขภาพของประชาชน ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อจะให้เกิดระบบการดูแลประชาชนที่ดี ประสานกันให้ถูกต้อง ทุกคนไม่มีเวลาที่จะมาแก้ตัว แต่ทุกคนต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ประเทศและประชาชน การแก้ตัวจะทำให้ปัญหาใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการแก้ไขจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก